วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ยอดกวีผู้หายไปจากความทรงจำของชาวตราด

“เสมียนทอง เจริญสุข”:
ยอดกวีผู้หายไปจากความทรงจำของชาวตราด

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เสมียนทอง เป็นชื่อฉบับนี้ผู้เขียนจะขออนุญาตกล่าวถึงวรรณกรรมมุขปาฐะ (ถ่ายทอดจากปากต่อปาก) ของจังหวัดตราด เพื่อให้ชาวตราดได้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษชาวตราด สำหรับวรรณกรรมที่เลือกมาในครั้งนี้คือ แหล่เรื่องตาผล และแหล่ตาเอ้งหลงป่า
แหล่ตาผล นี้เป็นแหล่ที่มีความนิยมมากในแถบตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ซึ่งผู้เขียนได้รับการแนะนำจากท่านพระอาจารย์นิคม เจ้าอาวาสวัดทุ่งไก่ดัก และคุณยายออน สุขขัง ว่าแหล่เรื่องตาผลนี้ มีความน่าสนใจ คือเป็นแหล่ที่มีคติสอนใจ ผู้เขียนจึงได้ไปสืบเสาะหาตัวผู้ที่ยังพอแหล่ได้ คือ คุณลุงยม ไม่ทราบนามสกุล อายุ ๕๐ ปี ต.ท่ากุ่ม อ.เมือง จ. ตราด
คุณลุงได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อครั้งที่คุณลุงบวชอยู่ที่วัดท่ากุ่ม (ประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว) ได้มีโอกาสช่วยที่วัดยกองค์พระพุทธรูปที่วัด ปรากฏว่าที่ใต้ฐานนั้นมีกระดาษซึ่งเป็นเนื้อร้องแหล่ตาผล จึงได้จดจำและนำมาเทศน์เรื่อยมา คุณลุงกล่าวว่า แหล่ตาผลนี้เข้าใจว่า เสมียนทอง ชาวท่าพริก เป็นผู้แต่งขึ้น (เสมียนทองผู้นี้เป็นกวีพื้นบ้านที่มีชื่อ ถึงขนาดแต่งเนื้อลำตัดพิมพ์ขายมาแล้วแต่ต้นฉบับหาไม่ได้แล้ว มีอายุอยู่ราวประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๕๐๐) และแต่งขึ้นจากเรื่องจริงว่า ตาผลนี้เป็นนายพรานชาวทุ่งไก่ดักที่ตายแล้วฟื้น ขณะที่หมดสติได้ไปเผชิญเรื่องราวในยมโลก เมื่อฟื้นขึ้นมาได้เล่าให้ยายเทศ ผู้ภรรยาฟัง ผู้ที่อายุราว ๘๐ ปีขึ้นไปและอยู่แถวๆ บริเวณทุ่งไก่ดัก ท่าพริก ท่ากุ่ม ก็อาจจะพอได้ยินเรื่องนี้บ้าง เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณ ๗๐ - ๘๐ ปีมาแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าแหล่เรื่องนี้น่าจะคงพอเตือนสติผู้ที่ประมาทในการบุญได้ จึงได้นำลงพิมพ์ มีเนื้อความดังนี้

แหล่ตาผลตายแล้วฟื้น

๏ รูปจะเริ่มนิพนธ์ ถึงแหล่ตาผลที่ใกล้จะดับสังขาร แกเจ็บไข้ได้โรคา ที่หายมาก็นานปี แกตายสลบไปพักใหญ่ เกือบเข้าข่ายอสัญญี ระเริงระไรว่าไปเมืองผี แล้วกลับคืนดีแล้วฟื้นคืนมา จึงเล่าความตามที่ไป บอกกับภรรยาว่าข้าได้ไปในภายชาติหน้า พบมัจจุราชยมบาล กับได้พบสระศรีนั้นมีสี่เหลี่ยม ล้วนแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยชลธาร กอปรด้วยจงกลยุบลบาน กว้างยาวประมาณมหึมา ที่ริมสระศรีนั้นมีศาลา และดูตระการตางามวิไล แกได้ไปยลเห็นคนนั่งอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นผู้ใด กิริยาท่าทางรูปร่างโตใหญ่ สวมเสื้อหมวกใส่ดูเอาการ พูดจาเสียงดังกำลังนั่งเก้าอี้ มือถือบัญชีอย่างโรงศาล ไขว่เกก[1]สูบยากิริยาห้าวหาญ ชั้นเชิญเชี่ยวชาญน่ากลัวพอดู พอเห็นตาผลคนที่สลบไป เดินมาแต่ไกลก็จ้องท่าขู่ เหลือบไปทางหลังเห็นแต่กวางแต่หมู เดินมาเป็นหมู่ฟ้องร้องยมบาล บอกว่าเมื่อก่อน เมื่อตอนยังดี ตาผลคนนี้ใจคอห้าวหาญ ยิงเนื้อไปขายฝักใฝ่เป็นพราน เมื่อยามวายปราณก็พากันรุม ลางบ้างสมสู่อยู่ด้วยกันดีดี แกก็คอยราวีเอาปืนมายิง ที่ป่าทุ่งไก่ดัก จนพึ่งพักอยู่ไม่ได้ เพราะมีพรานไพรเป็นผีสิง ไม่ว่ากลางวันกลางคืน เจอะกันเป็นยิง เขาอ้างอิงเช่นนี้มา มาพบแก้วในศาลา ไม่ถือเอาแก้วมา มันอาฆาตแค้นเพียงใด
๏ ฝ่ายยมบาลท่านก็ถามไปว่า แกเคยทำอะไรไว้บ้างในหนทางที่ดี รำลึกให้ดีแกเคยทำไว้มีหรือไม่ ว่าแสนสงสารตาผลให้อั้นอ้นจนใจ รำลึกสักพักค่อยจึงประจักษ์สติ กรรมปิดบุญเปิดให้สว่าง รำลึกขึ้นได้ว่าอาตมาเคยสร้างพระไตรปิฎก ครั้งขรัวด่อน กับได้ออกส่วนสร้างไว้สี่สิบบาท กับได้บวชพระสงฆ์อีกสององค์ศรัทธา ด้วยเจตนาอันดีแสน ขอให้ผลดีล้ำตั้งสร้างในทางวิมานเมืองแมน ฝ่ายยมบาลท่านก็บัญชีตรวจดู ก็มีเหมือนนายผลว่า แล้วเลยภิญโญอนุโมทนา ว่าบุญของแกยังมีพอกลับไปบ้านก่อนเถิด กลับไปเกิดอีกได้ แต่บาปกรรมทั้งหลายให้ข้าขอ แล้วร้องตวาดกับสัตว์ทั้งหลาย มีกวางทรายหมูเม่นหมี เอ็งกลับไปก่อน ผลท่านทำเอาไว้มี สัตว์ทั้งหลายต่างก็บ่ายหน้ากลับ สูญวุบหายวับไปทันที ฝ่ายยมบาลท่านก็สั่งไปว่า ให้กินหยูกกินยา แล้วหายวันหายคืน แล้วตัดไม้มาปักที่หน้าบ้าน ให้สูงระหงเหมือนเสากังหัน เอาผ้าแดงผูกปลายไว้เป็นสำคัญ กลางคืนนั้นให้จุดโคม เอ้อทำอย่างนี้นะโยม เหมือนข้าได้สั่งไป
๏ ฝ่ายตาผลรับคำก็อำลา แล้วพลิกฟื้นตื่นนอนขึ้นมา จึงเล่าความฝันให้เมียฟัง ฝ่ายเมียได้ฟังกิจนิมิตสลบ สองมือยกจบขึ้นน้อมพนัง[2] ว่าเป็นกุศลเพราะผลร้อยชั่ง คิดว่าถึงชีวังแล้วยังไม่วายชีวา พอรุ่งขึ้นเช้าตรู่ แม่โฉมตรูยายเทศ นางจึงแจ้งเหตุกับญาติทั้งหลาย มาสันทนากิริยาฟื้นคืนดี แล้วชวนญาติญาติไปตัดไม้มาปักเป็นเสาธง ให้สูงระหงเหมือนเสากังหัน เอาผ้าแดงผูกปลายเป็นสำคัญ กลางคืนนั้นก็จุดโคม ออนี่แหละพรานทั้งหลาย สละดันให้ได้ทั้งหน้าไม้และหน้าปืน ใครขืนหยิบยืม โอบอ้อมมาด้อมยิง เมื่อหลับตาตายวายสังขาร มันจะบันดาลเข้าสู่สิง ถ้าใครขืนทำคงเป็นกรรมจริงจริง อย่างตาผลนี่แล ฯ


ผลงานของเสมียนทองอีกเรื่องหนึ่งคือ แหล่ตาเอ้งหลงป่า เป็นแหล่สนุกๆ ที่มักจะใช้แหล่กันตามงานบุญต่างๆ ของชาวบ้านแถบตำบลท่าพริก เมื่อครั้งอดีต ซึ่งคุณตาสิม เกษโกวิท จดจำและบันทึกไว้ และมอบให้ผู้เขียนรักษาก่อนที่จะถึงแก่กรรม มีเนื้อหาดังนี้
คุณตาสิม เกษโกวิท (ถึงแก่กรรม)
กวีพื้นบ้านเมืองตราดผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของเสมียนทอง

แหล่ตาเอ้งหลงป่า

๏ ลูกจะเริ่มเรื่องเป็นเบื้องบท ลูกจะจำจดเอาเข้ามาว่า ยังมีบุรุษผู้หนึ่งหนาชำนาญป่า หวังใจจะไปหารังภุมริน แล้วจึงบอกกับบุตรและภรรยา ว่ายังเจอรงกุมภาอยู่ที่ในไพรสิน ถ้าใครแพลงพลัดมันจะกัดจะกิน ข้าจะเอาเสียให้สิ้นชีวาวาย ว่าแล้วมิทันช้า รีบจัดแจงกายารีบผันผาย ครุครบจัดหาใส่บ่าสะพาย แล้วก็ลงบันได...รีบจรลี แต่พอมาถึงยังไพรสน เธอเที่ยวดั้นดันในไพรศรี เที่ยวเสาะหาผึ้งอยู่อึงมี่ สันโดษอยู่ในที่พนาดอน มาประสบพบรังผึ้ง เสียงอื้ออึงกำลังจะอบเกสร จุดคบติดไฟหมายจะราญรอน เธอมิได้ย่อหย่อนในอุรา ด้วยตั้งจิตคิดปราโมทย์หวังประโยชน์ เอาเป็นพักษา แต่พอสมจิตที่เจตนาก็ลงพรึกษาดังใจปอง ว่าเออหนอเราวันนี้ไม่เสียทีคงมีช่อง แล้วก็รีบครรไลสมใจปอง เที่ยวสอดส่องไม่นอนใจ เที่ยวย่องรอดสอดหาพระสุริยาก็เบี่ยงบ่าย เธอให้หิวหวยระทวยกาย อาหารมิได้ลำ........คอ แล้วแข็งจิตคิดมานะ เที่ยวด้นลงเธอมิได้ย่อท้อ พอถกระหานริมธารท่อ ก็เลย..............................ซึ่งเภตรา ที่นั่นเล่าเขาเรียกว่าอ่าวหินดาด แต่ก่อนมิได้ขาดซึ้งลำเภตรา บังเอิญจำเพาะไม่มีใครจะไปมา ครั้นจะหยุดอยู่ท่าก็ป่วยการ เลยตั้งจิตคิดกลับหลัง มุ่งจิตมายังถิ่นสถาน ได้กินน้ำผึ้งต่างโภชนาการ ก็รีบรนรานจรลี บังเอิญมาพบอ้ายรูปดำ อ้ายเซอะเจ้ากรรมมึงมาอยู่นี่ จึงตัดขอพลันถ้อยทันที มิได้เห็นแก่ที่จะค่ำเย็น ได้ปูสี่ตัวมัด.........กัน แหงนดูพระสุริยันก็แลไม่เห็น เธอรู้สึกตัวกลัวจะเย็น แต่พอดีไม่เห็นซึ่งอัมพร ให้มืดมนอลหม่าน เธอเที่ยวด้นดั้นมิได้หยุดหย่อน ไม่เห็นอะไรในดงดอน ผ้าผ่อนเป............ร่อนไม่เหลือเลย โอ้อกเอ๋ยเดือนแปดมันมัวระสุมประชุมน้ำฟ้า มันให้หนาวอุราจริงอกเอ๋ย ไม่มีที่พักกายที่ไหนเลย โอ้อกเอ๋ยช่างยับระยำ ด้นพลางทางบ่นอู้ ว่าอ้ายปูเจ้ากรรม กูหลงใหลมึงจึงได้มืดค่ำ ลูกเมียเขาคงร่ำรำพันคอย จง.........เท่าไหร่ก็ไม่ออกทุ่ง ทั้งริ้นทั้งยุงมิใช่น้อย เที่ยวหลงทางมาห่างลอย คิดๆ แล้วก็น้อยในอุรา จำจะหยุดอยู่ที่กอปง อ้ายปูมึงอย่าพวงเที่ยวหนีหนา เพราะมึงกูจึงต้องค้างอยู่กลางป่า เธอนั่งบ่นว่าอยู่พึมพำ แต่พอเผลอกายปูไหลโกก ตกใจชะโงกเอามือคลำ ชะมึงหลอนกูอ้ายปูระยำ นั่งพูดพึมพำไม่หลับเลย
๏ จะกล่าวถึงบุตรและภรรยา ที่อยู่เคหามิได้เสบย ประมาณสองทุ่มกว่าไม่เห็นมาเลย ก็ไม่เสบยในอุรา ยังมีบุรุษคนหนึ่งชายเธอเที่ยวจุดใต้ตามหา ตะโกนกู่เพรียกเรียกบิดาอยู่ตามชาวป่าดงดอน ฝนหรือก็จะตกอยู่แน่วๆ เป็นกรรมของเราแล้วสะท้อนถอน ไม่รู้ว่าย้อนยอกเที่ยวซอกซอน หรือชีวิตม้วยมรณ์อยู่แห่งใด เที่ยวร้องเรียกไปตาม............... ด้วยเป็นการมืดค่ำไม่ผ่องใส ไม่พบบิดาเที่ยวหาไป พอสิ้นสงสัยแล้วก็กลับพารา แต่พอมาถึงสถานตน แล้วทุกๆ คนก็สนทนา จึงเล่าความที่ตนตามหา ไม่พบบิดาที่ไหนเลย
๏ ฝ่ายพวกบุตรและภรรยา ครั้นได้ฟังลูกว่าไม่นิ่งเฉย ว่ากรรมเอ๋ยกรรม กรรมของเราแล้วหนาเจ้าข้าเอ๋ยกรรม แล้วเหวยตายจริง นั่งพร้อมหน้ากันทั้งแม่ทั้งลูก นั่งกอดเข่าเป็นทุกข์ดังผีสิง ต้องหาหมอจับยามดูความจริง เราจะมัวนั่งนิ่งไม่ได้การ แล้วเร่งรีบไปบ้านหมอ มิได้รั้งรอด้วยความรำคาญ จึงเล่าถึงพัสดาเขาไปป่านาน เขาไปตั้งวันยังไม่เห็นกลับมา หมอช่วยจับยามสามตามิได้นั่งนิ่งดูตามครูสั่ง เอาหลังวิ่งพินิจอยู่เป็นนาน แค่พอทราบสิ้นกระบิลเรื่องเล่าอย่าขุ่นเคืองล่ำโศกสัน ยามบอกว่าไม่ตายยังไม่วายชีวัน เจ้าอย่าโศกสันไปนักเลย พรุ่งนี้เช้าเห็นก็เห็น ถ้าไม่เห็นเจ้าจงตระเวนอย่านิ่งเฉย ได้ฟังหมอว่าเจ้าข้าเอ๋ย แล้วก็..............เลยไปตามควร ว่าตายก็ตายหมอคงบรรยายให้ถี่ถ้วน หมออย่าสำนวนเป็นอำพราง หมอก็บอกจนหมดกระบิลว่าชีวิตยังไม่สิ้นทำลายร่าง เที่ยวเดินเวียนวงทองทาง ข้ามิได้อำพรางเป็นความจริง ได้ฟังหมอว่าไม่ช้านาน ก็รีบกลับบานดังผีสิง ฝ่ายบุตรทั้งหลายแลชายหญิง เห็นมารดามาก็วิ่งไปถามพลัน ว่าหมอเขาทายอย่างไรบ้าง จงเล่าให้ฟังเถอะ....ฉัน ครั้นได้ฟังลูกถามเธอก็ตอบความพลัน ฝ่ายบุตรทั้งนั้นก็ทราบเรื่องราว แล้วพากันร้องไห้ฝ่ายน้ำตา บ้างรำพันว่ากันอื้อฉาว ตั้งแต่นี้ไปจะตีสีให้ดิฉัน บ้างร้องไห้โฮโอ้โอ๋นับวัน เมื่อไรจะพบท่านพระบิดา นั่งร้องไห้กันเป็นหมู่ๆ บ้างไม่รู้ว่าม้วยมรณ์ ไปตกต้นไม้หรือหักกายกร หรือชีวิตม้วยมรณ์อยู่แห่งใด หรือว่าไปแย่งรังภุมริน มันกัดชีวิตเสียสิ้นลงตักษัย ว่ากรรมเอ๋ยกรรมจะทำอย่างไร ต่างคนร้องไห้ทรงโศกา
๏ ยังมีบุรุษคนหนึ่งหนา มาร้องห้ามว่าจะร้องไห้ไปทำไมนะจ๋า จงหัดจิตเสียบ้างฟังข้าว่า คิดอ่านตามหาเห็นจะดี ให้ฟังบุรุษที่สองร้องห้าม ด้วยความระกำที่หมองศรี เมื่อไรจะรุ่งแจ้งแสงคีรี เทวเฝ้าโสภีกันมิได้หลับนอน แต่พอรุ่งแสงพระสุริยา เธอรีบหุงข้าวปลามิได้หยุดหย่อน หวังจรตามหาพระบิดร ให้เร่าร้อนในอุรา ไปวักวานพี่น้องทั้งลูกหลาน และผู้ใหญ่บ้านก็มากมาย ปรึกษากันอึงคะนึงไป บ้างคิดวุ่นวายกันอลหม่าน บ้างก็ว่าเอาหมาไปและดี เพราะอยู่ในที่ไพรสันต์ บ้างห้ามว่าอย่าๆ ไม่เป็นการ เดี๋ยวกัดเตี่ยวายปรนเธออย่าเอาไป พอรุ่งแจ้งพระสุรัสวดี ไม่ช้าทีเธอก็รีบผันผาย บ้างทุ่งข้าวล่ำน้ำตาลทราย ห่อได้สะพายไม่รอรา ไปพบบุรุษคนหนึ่งใช้ควายอยู่ มีผู้เขาไปถามหา ให้ช่วยโต้หลงคนหลงป่า ช่วยทายดูว่าจะเป็นหรือตาย บุรุษได้ฟังคำเขามากล่าวหา ก็หยุดปรึกษาช่วยแก้ไข ไม่เลอะเทอะเลอะกันในทันใด แล้วก็สอบไล่ไปตามควร ได้ฟังเขาว่าเป็นแม่นยำ ทุกถ้อยคำไม่เรรวน ต่างรีบไคลคลาเวลาก็จวน ต่างคนก็ค่อนรีบไคลคลา แต่พอมาถึง.........พลัน ต่างก็พบท่านพระบิดา แสนปรีเปรมเกษมอุรา เจอกันแล้วก็มาสถานตน แต่พอมายังถึงยังบ้านพลัน ที่กำลังโศกศัลย์กันอลวน ชาวประชาที่ได้มายล กำลังโศกสนต่างก็ฮาทันใด ฯ (นั้นแหล่)

เสมียนทอง นอกจากเป็นกวีคนสำคัญแล้ว ยังถือเป็น “นักคิด” คนสำคัญของเมืองตราดอีกด้วย ผลงานของท่านไม่เพียงแต่จะมีความงามทางวรรณศิลป์แล้ว ยังแฝงไปด้วยความคิดและปรัชญาศาสนา ดังปรากฏในนิราศเรื่องต่างๆ ของเสมียนทอง หรือ การบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ดังปรากฏในงานเขียนที่ชื่อว่า “ลำตัดเรื่องเสือผ่อน” เป็นต้น การนำเสนอในครั้งนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของผลงานของท่าน ซึ่งผลงานส่วนที่เหลือผู้เขียนจะได้ทยอยนำมาลงพิมพ์ในโอกาสต่อไป เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ
แม้ว่าปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับวรรณคดีท้องถิ่นจะไม่แน่นแฟ้นดังเดิม แต่การศึกษาวรรณคดีท้องถิ่น็ก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะการศึกษาวรรณคดีท้องถิ่นจะช่วยให้เข้าถึงและเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้ใกล้ชิดมากขึ้น ได้มองเห็นความแตกต่างและความหลากหลายในสังคมไทยที่อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขสืบมา ที่สำคัญยังจะช่วยให้เรา (และคนไทยส่วนใหญ่) ได้ “เห็น” ถึงอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษทั้งในเชิงมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ พัฒนาและใช้ประโยชน์ได้ในปัจจุบันสมัย อันจะนำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ในที่สุด

[1] ไขว่เกก ภาษาถิ่นตราด หมายถึงอาการนั่งอย่างไขว่ห้างแต่ให้ปลายเท้าข้างหนึ่งหาดไว้ที่หัวเข่าอีกข้างหนึ่ง แต่ไม่ปล่อยให้ขาห้อยลงไปอย่างไขว่ห้าง
[2] เข้าใจว่าอาจหมายถึงคำว่า พนม หรือ ประนม

2 ความคิดเห็น:

  1. ดีใจที่ยังมีคนสนใจบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ15 ธันวาคม 2553 เวลา 03:52

    มี เรื่องราวอีกมากมาย ที่คุณตาสิม ได้เขียนไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
    ล้วนแล้วแต่ น่าสนใจ เช่น ลำตัด

    ตอบลบ