วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

“ท่านก๋งแดง” วัดแหลมมะขาม

“ท่านก๋งแดง” วัดแหลมมะขามกับ
“เกวียนพระราชทาน” ของรัชกาลที่ ๕


อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


กุฏิเก่าในวัดแหลมมะขาม อ.แหลมงอบ จ.ตราด

ในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองตราดแต่ละคราว โดยมากมักจะเสด็จยังวัดในท้องถิ่นนั้นเพื่อพระราชทานพระราชทรัพย์และบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เสมอ ดังในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ขึ้นที่ แหลมงอบและจะมุ่งไปตัวเมืองตราดนั้น เล่ากันว่าทรงแวะนมัสการพระเถรานุเถระของวัดที่ผ่านเส้นทางเสด็จแทบทุกวัด เริ่มตั้งแต่วัดแหลมงอบ ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าวัดสุวรรณาเขตร์ แล้วประทับแรมอยู่ที่วัดแหลมงอบ รุ่งขึ้นเสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านแหลมมะขามเพื่อนมัสการพระอธิการแดง หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า ท่านก๋งแดง ที่วัดตะพงษ์ทองด้วย[1] ซึ่งเรื่องราวที่ชาวบ้านเล่ากันสืบมานี้น่าจะตรงกับบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุที่กล่าวถึงการเสด็จประพาสเมืองตราดครั้งที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๔๓) ซึ่งมีข้อความดังนี้


ทรากเกวียนเก่าที่พบภายในวัดแหลมมะขาม

วันที่ ๙ มีนาคม เวลาเช้า ๒ โมงเศษเรือพระที่นั่งตรงโรงทหารออกมาห่างฝั่ง เวลาบ่าย ๕ โมงครึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ลงสู่เรือพระที่นั่งกรรเชียงไปประพาศที่ตำบลแหลมงอบ ทอดพระเนตรโรงทหาร พระยานรเชษฐวุฒิไวยจางวางเมืองตราด ๑ พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ ผู้ว่าราชการเมือง ๑ พร้อมด้วยปลัดแลกรมการผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรกับนายทหาร แลพลทหาร ซึ่งรักษาราชการอยู่ในที่นี้มาคอยรับเสด็จ มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควรแล้วเสด็จขึ้นทรงระแทะเทียมโคหนึ่งคู่ ไปประพาศตามถนนทางจะไปเมืองตราด ถึงวัดสุวรรณาเขตร (ราษฎรเรียกวัดแหลมงอบ) หยุดระแทะพระที่นั่ง เสด็จลงประพาศที่ลานน่าวัดนี้ ได้จัดทำปรำสำหรับพระสงฆ์นั่งสวดคาถาถวายไชยมงคล รวมพระสงฆ์ ๓๑ รูป มีพระครูวิมลเมธาวัดบุรินทรประดิษฐ เจ้าคณะเมืองเปน ประธาน ตามพื้นลานนอกปรำมีราษฎรมาคอยเฝ้า แลนำสิ่งของต่าง ๆ ทูลเกล้า ฯ ถวาย ทรงพระดำเนินเข้าสู่ในปรำมีพระราชปฏิสัณฐานแก่พระสงฆ์เหล่านั้น ตามสมควรแล้ว พระราชทานวัตถุปัจจัยมูลราคา ๔๐ บาท แก่พระครูวิมลเมธาซึ่งเปนเจ้าคณะ พระราชทานพระเกตเจ้าอธิการวัดนั้น ๒๐ บาท พระสงฆ์อันดับ ๒๙ องค์ๆ ละกึ่งสลึงแล้วเสด็จมาที่หมู่ราษฎรเฝ้า โปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกเสมาผูกคอเด็ก แลแจกเงินแก่ราษฎรที่ทูลเกล้าฯ ถวายของเหล่านั้นทั่วแล้วเสด็จขึ้นทรงระแทะประพาศต่อไป
ถึงที่ประทับร้อนตำบลสะแก หยุดระแทะพระที่นั่งเสด็จลงประพาศตามบ้านราษฎรในบริเวณนั้น แลพระราชทานเสมาผูกคอเด็กชาวบ้านนั้นด้วย แล้วเสด็จกลับมาที่ๆ ประทับ รวมระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนินแต่ท่าขึ้นมา ถึงที่นี้ประมาณ ๙๐ เส้น ทางนี้กรมทหารเรือตัดใหม่ไปกึ่งเมืองตราด ระยะทาง ๕๒๐ เส้นประทับอยู่ประมาณครู่หนึ่ง แล้วเสด็จโดยเรือพระที่นั่งกลับตามทางเดิม ถึงโรงทหารเสด็จลงจากระแทะ พระราชทานแจกเสมาผูกคอเด็กอีกครั้งหนึ่ง ...

เมื่อมาถึงวัดตะพงษ์ทอง (แหลมมะขาม) ทรงแวะนมัสการพระอธิการแดง และทรงถวายเกวียนแด่พระอธิการแดงด้วย เกวียนพระราชทานนี้เป็นเกวียนเทียมวัวที่พิเศษว่าเกวียนทั่วไป ตัวเกวียนทำด้วยไม้อย่างดี เวลาจะนำออกมาใช้ต้องใช้หลายคนหาม โดยเฉพาะกระพวนที่คอวัวนั้นเล่ากันว่าเสียงกังวานดังมาแต่ไกลดังเรื่องเล่าของอดีตศิษย์วัดที่เล่าว่า [2]

…..ตาแฝ่นี้เป็นลูกศิษย์ท่านก๋งแดงมีเพื่อนมาก เวลาท่านก๋งไปวัดไผ่ล้อม (ตาแฝ่)ก็จะมาเล่นกันอยู่หลังวัดเล่นกัน เด็กเล่นกันมันจะสุมหัวเล่นกันจนลืม แต่พอเสียงกระดึงเกวียนดัง ไอ้พวกนี้จะทิ้งของเล่นแล้วรีบไปก่อไฟ ไอ้คนไหนติดเตาไฟก็ติด ไปก่อฟืนจะต้มน้ำเพราะกลับมาท่านก๋งจะสรงน้ำ จะต้องฉันน้ำชา.....

เล่ากันว่าคราวนั้นท่านอธิการแดงได้ฝากเด็กชาวบ้านแหลมมะขามไปศึกษาและรับราชการด้วย คือ เด็กชาย เศียร ราหุลนันท์ (เศียรได่)[3] ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นตำแหน่งนาวาตรี หลวงศิลป์สาคร เศียรได่ นี้มีพี่ชื่อคล้องจองกัน ชื่อสายดุ่ย คนโตชื่อ เรือง ทั้งหมดเป็นบุตรของนายห่วงกับนางฉิ่ง ชาวบ้านแหลมมะขาม[4]

รูปเศียรได่ (นาวาตรี หลวงศิลป์สาคร)


รูปสายดุ่ย

เมื่อเสร็จจากวัดแหลมมะขามแล้วจึงได้เสด็จฯ ต่อยังวัดน้ำเชี่ยวโดยมีพระอธิการแดงมาส่งเสด็จฯ ในบ่ายวันเดียวกัน จากวัดน้ำเชี่ยวก็ทรงแวะที่วัดไทรทอง

ต้นฉบับหนังสือแจ้งข่าวมรณภาพของพระครูพุทธคุณคชทีป
พระอธิการแดงนี้ ภายหลังต่อมาได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ดังปรากฏในหนังสือแจ้งข่าวมรณภาพ ของมหาเสวกตรี พระยาเมธาธิบดี อธิบดีกรมธรรมการ ความว่า

ที่ ๒๓/๔๗๐๗ กรมธรรมการ
แพนกกรมสังฆการี
วันที่ ๑๐ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๖
เรียน มหาเสวกโท พระยาราชาสาสนโสภณ ราชเลขานุการในพระองค์
ด้วยพระครูพุทธิคุณคชทีป (แดง) วัดแหลมมะขาม เจ้าคณะแขวงอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด อาพาธเป็นโรคผอมแห้งถึงมรณภาพวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖ และพระครูวิมลคุณากร (ศุข) วัด... เจ้าคณะแขวงอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดไชยนาทอาพาธเปนโรคชรา ถึงมรณภาพวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖ จึงเรียนมาเพื่อให้หมายทะเบียนพระสมณศักดิ์ตามเคย
ขอแสดงความนับถืออย่างสูงมายังท่าน
มหาเสวกตรี พระยาเมธาธิบดี
อธิบดีกรมธรรมการ

เกร็ดเรื่องรัชกาลที่ ๕ พระราชทานเกวียนแก่ท่านก๋งแดงข้างต้น เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาและมีบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ นับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวบ้านแหลมมะขามและชาวตราด ที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเราเคยได้เห็น “พระราชศรัทธา” ของพระพระราชาผู้เป็นที่รักยิ่งในการแสดงน้ำพระราชหฤทัย บนแผ่นดินเกิดอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน




บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๗ แผ่นที่ ๕๒ วันที่ ๒๔ มีนาคม ร.ศ.๑๑๙
ละออง แก้ววิเชียร .อายุ ๘๔ ปี. บ้านเลขที่ ๕๘ หมู่ ๕ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ
จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘.
สนอม ประกรศรี อายุ ๗๗ ปี ทายาททวดหล่ำ, บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๖
ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘.
สมโภชน์ วาสุกรี. อายุ ๕๕ ปี หมู่ ๓ ต. แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์
วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘
[1] สมโภชน์ วาสุกรี. อายุ ๕๕ ปี หมู่ ๓ ต. แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘
[2] สมโภชน์ วาสุกรี. อายุ ๕๕ ปี หมู่ ๓ ต. แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘
[3] นายเศียรนั้นเกิดเมื่อ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๔ รับราชการครั้งแรกเมื่อ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕ ในต้นรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งที่ได้ติดยศเรือตรี ตำแหน่งผู้การเรือ ก็กลับมาเยี่ยมบ้าน จึงทราบข่าวว่าบิดามารดาถึงแก่กรรม แล้วเข้าไปกราบนมัสการพระอธิการแดงเพื่อแสดงกตัญญุตาจิต พระอธิการแดงเมื่อเห็นนายเศียรในชุดเครื่องแบบนายทหารก็จำไม่ได้จึงถามว่าเป็นใครมาจากไหน นายเศียรจึงว่า “เศียรได่ไง ท่านพ่อจำไม่ได้เหรอ” ท่านจึงตอบว่า “มึงนี่เป็นถึงขนาดนี้เชียวเรอะ กูนึกว่ามึงเป็นอั้งยี่ตายไปแล้ว” และเมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดในคราวต่อไปได้ซื้อรถเจ๊กมาถวาย ส่วนนายสายดุ่ยผู้ได้เป็นกำนัน ต่อมาได้เป็นนายประภาคารแหลมงอบ ส่วนพี่ชายคนโต คือนายเรือ เป็นผู้ใหญ่บ้านแหลมมะขาม (ละออง แก้ววิเชียร .อายุ ๘๔ ปี. บ้านเลขที่ ๕๘ หมู่ ๕ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด และ สนอม ประกรศรี อายุ ๗๗ ปี ทายาททวด หล่ำ บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๖ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘.)
[4] ละออง แก้ววิเชียร .อายุ ๘๔ ปี. บ้านเลขที่ ๕๘ หมู่ ๕ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด และ สนอม ประกรศรี อายุ ๗๗ ปี ทายาททวดหล่ำ บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๖ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘.

1 ความคิดเห็น: