วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

“ฮิ” พระเอกในภาษาถิ่นจังหวัดตราด

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


เมื่อพูดถึงภาษาถิ่นภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่เมืองตราด คำแรกๆ ที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงคือคำว่า “ฮิ” ซึ่งเป็นคำลงท้าย (post - verbal particles) ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวตราดและเป็นที่จดจำของคนทั่วไป เนื่องจากเสียง “ฮิ” ออกเสียงคล้ายกับคำหยาบในภาษาไทยมาตรฐานที่เกี่ยวกับเรื่องเพศคำหนึ่งซึ่งเสียงยาวกว่า จึงกลายเป็นเรื่องน่าขบขันของคนต่างถิ่นไป
หลายครั้งที่เรามักเห็นนักแสดง คณะตลกต่างๆ รวมถึงคนต่างถิ่นที่มักล้อเลียนคำศัพท์ในภาษาถิ่นภาคตะวันออก โดยใช้คำว่า “ฮิ” ลงท้ายประโยค เช่น ไปกับเราไหมฮิ ไปซิฮิ กินข้าวกันไหมฮิ เดินไปด้วยกันฮิ เป็นต้น ซึ่งการใช้คำ “ฮิ” ในประโยคข้างต้นมีทั้งผิดและถูกในสถานการณ์การใช้จริงของคนท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะคำ “ฮิ” มีหน้าที่และบริบทการใช้ “เฉพาะ” ไม่ใช้กันพร่ำเพรื่อทั่วไป
อย่างไรก็ดี นักวิชาการหลายท่านต่างก็ให้ความหมายของคำ “ฮิ” ไว้บางส่วนเช่น มยุรี อภิวาท ให้ความหมายว่า “เป็นคำสร้อยที่ต่อท้ายประโยคคำพูด มีความหมายตรงกับคำว่า ซิ หรือ นะ เช่น ประโยคว่า ไปไหนมานะ ก็จะพูดว่า ไปไหนมาฮิ พูดใหม่ซิ ก็จะพูดว่า พูดใหม่ฮิ ส่วนคำว่า ฮิ่ เป็นสร้อยคำตามท้ายประโยคคำพูด เช่นเดียวกับคำว่า ฮิ แต่จะใช้ในความหมายที่แตกต่างไปบ้าง เช่น ประโยคว่า ประเดี๋ยวก่อนซิ่ จะพูดว่า ประเดี๋ยวก่อนฮิ่ คอยก่อนซิ่ จะพูดว่า คอยก่อนฮิ่ นั่งลงซิ่ จะพูดว่า นั่งลงฮิ่ ”[1]
อำนาจ เพ่งจิตต์ กล่าวว่า “ภาษาจันท์มีคำลงท้ายประโยคอยู่คำหนึ่ง คือ “เซี้ยะ” ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ของภาษาจันท์อย่างยิ่ง มาจากคำ “สิ” หรือ “ซิ” ของภาษากรุงเทพฯ เช่นทำแล้วสิ, ให้แล้วสิ เหมือนจะมาจากให้แล้วสิหนา ทำแล้วสิหนา ทำนองนั้น แต่สำเนียงพูดกันออกมาว่า ทำแล้วซี้ล่ะ พูดเร็วๆ คำ “ซี้ล่ะ”กลายเป็น “เซี้ยะ” บางทีเป็น “เฮี้ยะ” ชาวจันทบุรีรู้จักกันดี จะพลัดพรากกันไปอยู่บ้านไหนเมืองไหน ถ้าพบปะใครออกหางเสียงคำลงท้ายทำนองนี้ ทักทายได้เลยไม่ใช่คนอื่นไกล แต่ปัจจุบัน คำ เฮี้ยะ กำลังจะกร่อนเสียงสั้นลงเป็น ฮิ ตามธรรมชาติของภาษา และความจูงใจของผู้ใช้ภาษาเอง ในวงสนทนาหากเลือกประโยคที่มีความหมายเหมาะๆ แล้วลงท้ายประโยคด้วย “ฮิ” จะเรียกเสียงฮาได้ทันทีเป็นที่ชอบใจของวงสนทนา ซึ่งนี่ก็เป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในภาษาจันท์”[2]
นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ในภาคตะวันออก ยังตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างของการออกเสียงคำ “ฮิ” ของชาวภาคตะวันออกไว้เป็นคำคล้องจองว่า “ระยองฮิสั้น จันท์ฮิยาว ตราดฮิใหญ่” อีกด้วย
ความจริงในบริบทการสนทนาของชาวตราด คำ “ฮิ” มีหน้าที่ในการใช้สนทนาแตกต่างกัน ทั้งยังสะท้อนเจตนาของผู้พูดไว้ด้วย ผู้เขียนจึงพยายามจะ “ค้นหา” วิธีการใช้และหน้าที่ของ “ฮิ” ในภาษาถิ่นจังหวัดตราดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน (ในฐานะชาวตราด) รวมถึงการเก็บข้อมูลภาษาจากผู้บอกภาษาชาวตราด พบว่า “ฮิ” ในภาษาถิ่นจังหวัดตราดมีความน่าสนใจที่เสียงของคำ “ฮิ” จะเพี้ยนไปตามบริบทหรือสถานการณ์ของการสนทนา แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัทลักษณะกับความหมาย[3] โดยแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทดังนี้

๑. “ฮิ” ที่แสดงการสิ้นสุดความ (Finality)
จากการศึกษาบริบทของการใช้คำ “ฮิ” ในบทสนทนาของชาวจังหวัดตราดพบว่า การใช้ “ฮิ” ในประเภทนี้แสดงความหมายเชิงเจตคติ อารมณ์ ทีท่า และความรู้สึกนึกคิด ในแง่ของการชี้แจงยืนยันบอกกล่าว การบอกให้ทำ การถามเพื่อขอคำยืนยัน คำลงท้าย “ฮิ” ในประเภทนี้เป็นคำลงท้ายกลุ่มเสียงตก ซึ่งแสดงวัจนกรรม[4] ในรูปประโยคแตกต่างกันดังนี้
๑.๑ รูปประโยคคำสั่ง
เป็นวัจนกรรมตรงในการบอกให้ทำ มักออกเสียง “ฮิ่” ตัวอย่างเช่น นั่งลงฮิ่ อย่าพูดมากนักฮิ่ เดินไปฮิ่ ไปปรึกษาครูใหญ่ดูฮิ่
๑.๒ รูปประโยคคำถาม
เป็นวัจนกรรมอ้อม ในการขอคำยืนยัน คือ สถานการณ์ที่ผู้พูดมีข้อเท็จจริงอยู่ก่อนและมีความเชื่อมั่นแต่ผู้ฟังให้ข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน จึงถามเพื่อขอคำยืนยัน ซึ่งมักออกเสียงว่า “ฮี้” ตัวอย่างเช่น
มันจะเป็นไปได้ยังไงฮี้
สวยจริงหรือเปล่าฮี้
มันจะดำยังไงฮี้
๑.๓ รูปประโยคบอกเล่า
เป็นวัจนกรรมตรง ในการบอกให้ทราบ ในสถานการณ์ที่ผู้พูดเชื่อมั่น และยืนยันให้ผู้ฟังเชื่อตาม มักออกเสียง “ฮิ่” ตัวอย่างเช่น
โจรมันก็พูดไปฮิ่ (มันจะไปรักษาสัญญาอะไร)
ทิ่ดก็ลองถามใครดูฮิ่ (ไม่เชื่อถามอีสาวเล่กดูก็ได้)
มันก็ไปกันอีกฮิ่ (ลองมีทีแรกแล้วก็ต้องมีทีที่สอง)
๒. “ฮิ” ที่แสดงการไม่จบความ (Non-finality)
คำ “ฮิ” ประเภทนี้ แสดงความหมายเชิงเจตคติ อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดในแง่การถาม การแสดงความประหลาดใจ การแสดงความรู้สึกไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วย การขอความเห็นพ้อง การขอร้องคะยั้นคะยอ การเรียกความสนใจ การแสดงความกังวลใจ การแสดงความเป็นเจ้าของ เป็นต้น ความหมายเหล่านี้พบในคำลงท้ายกลุ่มเสียงสูงระดับ ซึ่งมักแสดง วัจนกรรมต่างๆ ดังนี้
๒.๑ รูปประโยคบอกเล่า
การใช้คำ “ฮิ” ที่ปรากฏในประโยคบอกเล่านี้ ออกเสียงเพี้ยนเป็น “เฮี้ย” (บางคนออกเสียง “เคี้ย” “เกี๊ย” ก็มี)[5] แสดงวัจนกรรมตรงในการแสดงความเป็นเจ้าของ เกิดในสถานการณ์ที่ผู้พูดต้องการแสดงความเป็นเจ้าของ หรือให้เหตุผลบางอย่างแก่ผู้ฟัง เช่น
รถคันนี้ของเค้าเฮี้ย (ไม่ใช่ของแกซะหน่อย)
ก็แมะเป็นคนทำเฮี้ย (จำไม่ได้เหรอ)
มะม่วงมันเน่าเฮี้ย (กินไม่ได้แล้ว)
นอกจากนี้ยังรวมถึงสถานการณ์ที่ผู้พูดมีความรู้สึกประหลาดใจไม่คาดฝันถึงสิ่งที่ตนรู้มา และต้องการโอ้อวดให้ผู้ฟังรับทราบซึ่งคาดว่าผู้ฟังจะต้องประหลาดใจ เช่น
อาทิตย์ที่แล้วพี่ฟิล์ม รัฐภูมิ มาด้วยเฮี้ย
ที่วัดเค้ามีกายกรรมมาแสดงด้วยเฮี้ย
ต้นมะม่วงข้างบ้านออกลูกเป็นสี่เหลี่ยมเฮี้ย
๒.๒ รูปประโยคปฏิเสธ
การใช้คำ “ฮิ” ที่ปรากฏในประโยคปฏิเสธนี้ ออกเสียง “ฮิ” หรือ “ฮิเนี่ย” (บางคนออกเสียง “คิ” หรือ “กิ๊” ก็มี) แสดงวัจนกรรมตรงในการบอกความปฏิเสธ มักเป็นสถานการณ์ที่ผู้พูดแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเพื่อชี้แจงเหตุผลในการขอความเห็นใจจากฟัง เช่น
ก็มันไม่ชอบฮิ
เพร่าะว่ามันไม่รู้ฮิ
ไม่เคยลองทำเลยฮิ
๒.๓ รูปประโยคคำถาม
การใช้คำ “ฮิ” ในประโยคคำถามนี้ มักเกิดในสถานการณ์ที่ผู้พูดไม่มีความรู้เรื่องที่ถามมาก่อนเลยและอยากได้ข้อเท็จจริงจากผู้ฟังหรืออาจเคยมีความรู้เรื่องนั้นๆ มาก่อนแต่จำไม่ได้ มักออกเสียงว่า “ฮิ” ตัวอย่างเช่น
หนังเรื่องนี้ใครเป็นพระเอกฮิ
ทางไปบ่อไร่มันดีรึเปล่าฮิ
ไปเที่ยวเกาะช้างคราวนี้ มีใครไปบ้างฮิ
๓. “ฮิ” ที่แสดงการส่อความขัดแย้ง (Contradiction)
คำลงท้ายที่มีความหมายแสดงการส่อความขัดแย้ง (Contradiction) แสดงความหมายเชิงเจตคติ อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดในแง่ของการอธิบายความเพื่อแสดงหรือชี้แจงความรู้สึกขัดแย้ง มักพบในรูปประโยคบอกเล่า ออกเสียงว่า “เฮี้ย” ตัวอย่างเช่น
ก็มันแพงเฮี้ย (ซื้อมาทำไมไม่เข้าท่า)
เป็นยังงั้นก็ดีแล้วเฮี้ย (มันจะได้ไม่มาหาอีก)
มันร้อนเฮี้ย (เห็นใจกันมั่งฮิ่)

สิ่งที่นำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คำ “ฮิ” ในภาษาถิ่นจังหวัดตราด ทั้งที่ได้จากการศึกษาในฐานะนักวิชาการและการสังเกตในฐานะผู้บอกภาษาคนหนึ่ง ความจริงนอกจากคำ “ฮิ” ยังมีคำลงท้ายอื่นๆ ในภาษาถิ่นจังหวัดตราดที่น่าสนใจอีกหลายคำ เช่น คำ “เฉ้ด” กับ “หาย” ซึ่งมักใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ขยายคำ “หมด” เช่น หมดเฉ้ด หมดหาย แต่ ๒ คำนี้ใช้ในความหมายไม่เหมือนกัน เพราะคำแรก “หมดเฉ้ด” ให้ภาพว่าหมดเกลี้ยงจนไม่เหลืออะไรเลย ส่วน “หมดหาย” ให้ความรู้สึกเสียดายของผู้พูดต่อสิ่งที่หมดไป เป็นต้น
กระนั้นก็ดี การศึกษาข้อมูลในเบื้องต้นครั้งนี้อาจช่วยกระตุ้นให้ “คนใน” เกิดการสังเกตความละเอียดอ่อนของภาษาถิ่นที่ตนใช้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพื่อให้ “คนนอก” ได้เข้าใจคำลงท้าย “ฮิ” ของชาวตราดได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะ “ภาษาถิ่นจังหวัดตราดก็สำคัญฮิ”


บรรณานุกรม

มยุรี อภิวาท. ภาษาตราดวันละคำ. ตราด: โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์, มปป.
(เอกสารอัดสำเนา)
สมจิตต์ รัตนีลักษณ์. “การศึกษาสัทอรรถศาสตร์ของคำลงท้ายในภาษาระยอง”
วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต สาขาภาษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๒.
อำนาจ เพ่งจิตต์. “ภาษาจันท์” ที่ระลึกในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก
จันทบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, ๒๕๓๓. หน้า ๑๔๙.

[1] มยุรี อภิวาท. ภาษาตราดวันละคำ. ตราด: โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์, มปป. (เอกสารอัดสำเนา) หน้า ๘๐.
[2] อำนาจ เพ่งจิตต์. “ภาษาจันท์” ที่ระลึกในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลา-ภิเษกจันทบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด,๒๕๓๓. หน้า ๑๔๙.
[3]ปรับปรุงและดัดแปลงบางส่วนจาก ภาคผนวก ค ใน สมจิตต์ รัตนีลักษณ์. “การศึกษาสัทอรรถศาสตร์ของคำลงท้ายในภาษาระยอง” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๒.
[4] วัจนกรรม (Speech act) หมายถึง การแสดงออกทางวาจาเพื่อบ่งบอกความตั้งใจ (intention) หรือ เจตนาของผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง และถ้าผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจไม่ตรงกัน การสื่อสารนั้นก็ไม่ได้ผล ซึ่งในการพูดแต่ละครั้ง ถ้อยความที่กล่าวออกมามีองค์ประกอบ ๓ ส่วนด้วยกัน (เพียรศิริ วงศ์วิภานนท์,๒๕๒๖) คือ
๑. ถ้อยคำ (Utterance)
๒. วัจนกรรม (Illocutionary act)
๓. วัจนผล (Perlocutionary act)
[5] ในภาษาถิ่นจังหวัดจันทบุรี และภาษาถิ่นจังหวัดระยองใช้ว่า “เซี้ยะ” “ซี้ล่ะ” ก็มี

4 ความคิดเห็น:

  1. ยาวจังอ่าค่ะสั้นๆไม่ด้ายรึงัยคะ?--

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ7 พฤษภาคม 2555 เวลา 10:53

    เค้าเป็น ดร.และกำลังจะเป็นผศ แล้วว ก็เก่งเป็นธรรมดา อิอิ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณความรู้ดีๆค่ะ เข้าใจตัวเองขึ้นเยอะ ภาษาละเอียดอ่อนจริงๆ (คนยองฮิ :D)

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณค่ะ อ่านแล้วคิดถึงบ้านเลยค่ะ

    ตอบลบ