วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รอยสัก ร.ศ.๑๑๒ ตราด






รอยสัก “ร.ศ.๑๑๒ ตราด”

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ และการสูญเสียเมืองตราดให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่เพียงสร้างความทุกข์ระทมและเจ็บช้ำใจให้แก่ราษฎรชาวตราดเท่านั้น หากแต่ความรู้สึกเดียวกันนี้ยังอยู่ในหัวใจของราษฎรชาวสยามทั้งแผ่นดินอีกด้วย



หากจะย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ทั้ง ๒ เหตุการณ์นี้ แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ต่างวาระกัน แต่เหตุการณ์ทั้งสองนี้ก็ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กล่าวคือวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เริ่มต้นขึ้นเมื่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาครอบครองอินโดไชน่า อันประกอบด้วย โคชิน ตังเกี๋ย อันนัม กัมพูชาและบางส่วนของลาว มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ต่อมาฝรั่งเศสก็อ้างว่า ดินแดนของลาวเดิมเป็นสิทธิของเวียดนาม ตามที่เจ้าอนุวงศ์เคยทำสัญญายกเมืองลาวให้เวียดนาม เพื่อขอลี้ภัยการเมือง ในคราวที่เจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏในสมัยรัชกาลที่ ๓ และเมื่อเวียดนามเป็นดินแดนในการคุ้มครองของฝรั่งเศสแล้ว จึงสมควรที่แผ่นดินลาวต้องเข้ามาอยู่ในการดูแลของฝรั่งเศสด้วย รัฐบาลสยามจึงได้ส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคมให้ทรงขึ้นไปตั้งกองบัญชาการลาวพวนอยู่ที่เมืองหนองคายเพื่อป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศส
ครั้นวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ( ร.ศ.๑๑๒) มองซิเอร์ลุซ ชาวฝรั่งเศส คุมทหารญวนในสังกัดฝรั่งเศสเข้าปล้นค่ายยึดเมืองคำมวน เมืองหน้าด่านพระราชอาณาเขตสยามซึ่งมี “พระยอดเมืองขวาง” เป็นข้าหลวงรักษาเมือง ซึ่งก็มิได้ต่อสู้ขัดขวาง เพราะเกรงกระทบไมตรีระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลสยามได้พยายามประท้วงไปทางฝรั่งเศส แต่ก็ไม่เป็นผล ฝรั่งเศสยืนกรานว่า เมืองคำมวนเป็นของฝรั่งเศส และพระยอดเมืองขวางก็คือผู้บุกรุก “มองซิเออร์ปาวี
” ยื่นประท้วงโดย "ให้ลงโทษพระยอดเมืองขวางสถานหนักและให้สยามประเทศจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวทหารฝรั่งเศส ญวนและเขมรที่ถูกฆ่าตาย" เหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำไปสู่คดีประวัติศาสตร์ "คดีพระยอดเมืองขวาง" และ "วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ " ในเวลาต่อมา
ผลจากความขัดแย้งข้างต้นนำมาสู่การรบที่ปากน้ำ ระหว่างทหารไทยและทหารฝรั่งเศส ผลปรากฏว่าไทยเป็นฝ่ายสูญเสียมาก แม้ว่ากองทัพเรือไทยจะพยายามรบอย่างสุดกำลัง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฝรั่งเศสเรียกร้องสิทธิ (สนธิสัญญาสันติภาพ)และค่าเสียหายจากรัฐบาลสยาม(ค่าปฏิกรรมสงคราม)เป็นจำนวนเงินมหาศาล เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความโทมนัสให้แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงพระประชวรด้วยทรงตรอมพระทัย ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ที่ทรงมีพระราชปรารภพระราชทานแก่ผู้ใกล้ชิดของพระองค์ความตอนหนึ่งว่า

๏ กลัวเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา บละเว้นฤวางวาย
คิดใดจะเกี่ยงแก้ ก็บ่พบซึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย จึงจะอุดแลเลยสูญ

ต่อมาในปี ร.ศ. ๑๒๒ ฝรั่งเศสได้ให้สัตยาบันที่กรุงปารีส เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๔๗ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ มีผลให้จังหวัดตราดและบรรดาเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงไปต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศส แม้ว่าจากหลักฐานสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ ไม่มีข้อความใดระบุการครอบครองจังหวัดตราดไว้เลย แต่ในข้อ ๓ แห่งสัญญาระบุไว้ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลไทยต่างจะตั้งข้าหลวงผสมกันออกไปทำการกำหนดเขตแดน และได้มีการกำหนดปักปันเขตแดนกันตรงแหลมลิง (ในตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ) จึงดูเหมือนว่าฝรั่งเศสได้สิทธิในการครอบครองเมืองตราดแทนจันทบุรี[1]
เมื่อข่าวการยึดครองของฝรั่งเศสแพร่สะพัดรู้ไปถึงราษฎร ต่างก็ตกใจและเกิดการอพยพ แต่ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรที่ยาวไกล จึงได้ทรงพยายามในทุกวิถีทางที่จะให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง ความพยายามของพระองค์ท่านที่จะประวิงเวลาให้เมืองตราดคงอยู่ในพระราชอาณาจักรไร้ผล ฝ่ายไทยจึงต้องยอมมอบเมืองตราให้แก่ฝรั่งเศสแน่นอน ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๔๗
สำหรับพิธีส่งมอบเมืองนั้น รัฐบาลสยามได้มอบหมายให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งขณะนั้นบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาศรีสหเทพ เดินทางไปที่จังหวัดตราดโดยเรือรบหลวงมกุฏราชกุมาร ซึ่งในวันที่มีการมอบหมายส่งดินแดนให้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายฝรั่งเศสนั้นได้กระทำกัน ณ ศาลาว่าการจังหวัดตราด ( บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดตราดในปัจจุบัน ) ต่อหน้า พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ (สุข ปริชญนนท์) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และ พระจรูญภาระการ (โป๊ กูรมะโรหิต) ซึ่งในขณะนั้นเป็นหลวงรามฤทธิรงค์ ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองตราด พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้ทำหนังสือสำคัญโดยลงชื่อมอบให้เรสิดังต์กำปอตผู้เป็นข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศส เสร็จแล้วพระยามหาอำมาตยาธิบดีพร้อมด้วยข้าราชการเมืองตราดและเมืองประจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) บางคน มีพระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ พระจรูญภาระการ และนายวาศผู้พิพากษาศาลจังหวัดประจันตคีรีเขตต์และครอบครัว ได้พากันออกจากจังหวัดตราดโดยเรือรบหลวงมกุฏราชกุมาร กลับเข้าสู่กรุงเทพมหานคร[2]

พิธีชักธงสยามลง และชักธงฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสา
ในพิธีส่งมอบเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๔๗

ในการมอบหมายจังหวัดตราดให้แก่ฝรั่งเศสในครั้งนั้น ยังความโทมนัสเสียใจให้แก่บรรดาข้าราชการที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง ดังความปรากฏในบันทึกของหลวงสาครคชเขตต์ ความตอนหนึ่งว่า “กล่าวกันว่าในวันนั้นพวกไทยเราถึงกับพากันน้ำตาตกและเต็มตื้นไปด้วยกันทุกคน”[3]
อนึ่งในการที่ฝรั่งเศสมาอยู่เมืองตราดในคราวนี้พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้สังเกตดูกริยาอาการและถ้อยคำของฝรั่งเศสที่พูดดูไม่พอใจในการได้เมืองตราดมา ทั้งนี้เพราะเห็นว่าเป็นเมืองยากจนพื้นที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ การที่จะมาทางเเรืออขึ้นเมืองก็แสนลำบาก อ่าวก็ใช้อะไรไม่ได้ ถึงตัวมองสิเออร์มอเรลเอง เมื่อขึ้นมาถึงเมืองร้องว่าต้งลงเรือเล็กมาลำบากถึง ๗ ชั่วโมง คลื่นซัดเปียก คนที่มาด้วยก็ต้องอดอาหารตั้งแต่ ๑๑ ทุ่มถึงบ่ายโมงเศษ[4]

พระฉายาลักษณ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

“เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒” และ “การสูญเสียเมืองตราด” นี้เอง เป็นเสมือนรอยแผลในใจของชาวไทยทุกคน เจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงรู้สึกเจ็บแค้นร่วมกับราษฎรสยามทั้งชาติ คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์[5] (พระยศในขณะนั้น ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ทั้งยังทรงเห็นความโทมนัสของสมเด็จพระราชบิดามาโดยตลอด
เมื่อพระองค์ทรงมีพระชันษา ๒๖ ปี คือในราว พ.ศ.๒๔๔๙ (ซึ่งขณะนั้นเมืองตราดยังอยู่ในบังคับของฝรั่งเศสอยู่) ทรงมีพระประสงค์สักข้อความบนกลางพระอุระว่า “ร.ศ.๑๑๒ ตราด” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงรอยแผลที่รัฐบาลฝรั่งเศสในครั้งนั้นทำไว้ต่อแผ่นดินไทย นอกจากนี้ยังทรงโปรดให้บรรดาศิษย์ของพระองค์ที่ทรงโปรดปราน สักข้อความไว้ดุจเดียวกัน
หนึ่งในบรรดาศิษย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์คนหนึ่ง คือ พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ร.น. (บุญมี พันธุมนาวิน)[6] (นายทหารเรือไทยคนแรกที่ได้ไปศึกษาวิชาการเรือดำน้ำ ณ ประเทศอังกฤษ เป็นนายทหารรุ่นบุกเบิกและเป็นศิษย์คนสนิทของกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์) ได้เคยถ่ายรูปรอยสักของตนไว้ ซึ่งตัวหนังสือที่อยู่ที่กลางหน้าอกคือคำว่า “ร.ศ.๑๑๒ ตราด” ท่านเจ้าคุณเขียนคำอธิบายไว้ว่าท่านสักไว้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายเรือ อายุราว ๑๖ ปี เมื่อราวพ.ศ.๒๔๔๙ แต่ถ่ายรูปนี้ไว้เมื่ออายุได้ ๕๑ ปี เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ มีคำบรรยายพิมพ์บอกไว้ใต้รอยสักในรูปว่า

“การสัก ร.ศ.๑๑๒ และตราด นี้ ก็เนื่องมาจากที่ชาติไทยถูกอินโดจีน ฝรั่งเศส รุกรานใน ร.ศ. ๑๑๒ นั้น และยังโกงยึดเมืองตราดไว้อีกจนไทยต้องยอมยกมณฑลบูรพาแลกเปลี่ยน เรื่องนี้ในกรมหลวงชุมพรฯ พระอาจารย์ของข้าพเจ้าทรงเกรี้ยวกราดและเจ็บแค้นฝังพระทัยนักหนา ทรงทนไม่ไหวและจะได้เป็นที่ระลึกและฝังใจกันได้เพื่อทำการตอบแทน จึงได้ทรงสัก ร.ศ.๑๑๒ และ ตราด ในพระองค์ท่าน และบรรดาสานุศิษย์ที่โปรดปรานทั่วไป ข้าพเจ้าสักในวันรุ่งขึ้นจากวันที่พระองค์ทรงสักอายุราว ๑๖ ปี”




รอยสัก “ร.ศ.๑๑๒ ตราด” ของ
พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ร.น. (บุญมี พันธุมนาวิน)

ภาพรอยสัก ร.ศ.๑๑๒ และตราด เป็นภาพที่แสดงออกถึงความรู้สึกเจ็บแค้นเป็นพ้นทวีต่อรอยแผลในประวัติศาสตร์ และความรู้สึกรักและเทิดทูนชาติที่น่ายกย่องยิ่ง รอยสักนี้คงจะเป็นบทเรียนและอนุสรณ์ถึงความทรงจำในอดีต หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารอยสักนี้จักเป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวตราดและคนในชาติสมานสามัคคี และร่วมแรงร่วมใจกันในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยดุจเดียวกันกับเมื่อครั้งอดีต
สุดท้ายผู้เขียนขอนำบันทึกซึ่งอ้างกันสืบมาว่าเป็นบันทึกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เห็นว่าเป็นเครื่องเตือนใจและปลูกจิตสำนึกรักชาติได้อย่างดียิ่ง จึงขอนำมาลงไว้ท้ายบทความนี้

กู กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้เป็นโอรสของพระปิยมหาราช ขอประกาศให้พวกมึงรับรู้ไว้ว่าแผ่นดินสยามนี้ บรรพบุรุษ ได้เอาเลือดเอาเนื้อเอาชีวิตแลกไว้ ไอ้อีมันผู้ใด คิดชั่วร้ายทำลายแผ่นดิน ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฤากระทำการทุจริต ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อส่วนรวม จงหยุดการกระทำนั้นเสียโดยเร็วก่อนที่ที่กูจะสั่งทหารผลาญสิ้นทั้งโคตรให้หมดเสนียดของแผ่นดินสยามอันเป็นที่รักของกู
ตราบใดที่คำว่า "อาภากร" ยังยืนหยัดอยู่ในโลก กูจะรักษาผืนแผ่นดินสยามของกู ลูกหลานทั้งหลาย แผ่นดินใดให้เรากำเนิดมา มิให้อนาทรร้อนใจ จงซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้น แผ่นดินใดที่ให้ซุกหัวนอน ให้ความร่มเย็นเป็นสุข มิให้อนาทรร้อนใจ จงซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้น

บรรณานุกรม

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ รัชกาลที่ ๕ ฝ. ๑๙/๑๑ เรื่องมอบเมืองที่ยกให้ฝรั่งเศสตามสัญญา
ฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๒๒. (เอกสารไม่ตีพิมพ์).
สาครคชเขตต์,หลวง. จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๗. พิมพ์ครั้งที่ ๓ . กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี่, ๒๕๓๙.
สำนักงานจังหวัดตราด. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดตราด. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย,
๒๕๒๗.
หาญกลางสมุทร,พลเรือตรี พระยา. ประวัติโรงเรียนนายเรือ ประวัติการจับเชลย. อนุสรณ์งาน
พระราชทานเพลิงศพพลเรือตรีพระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ร.น.
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๗.
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. รายงานการวิจัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว “ตามรอยเสด็จเกาะช้าง จังหวัดตราด”. กรุงเทพฯ: องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด, ๒๕๔๙.
[1]สำนักงานจังหวัดตราด . ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดตราด. ( กรุงเทพฯ : อักษรสมัย , ๒๕๒๗) หน้า ๓๒.
[2] สาครคชเขตต์,หลวง. จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๗. พิมพ์ครั้งที่ ๓ . (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี่, ๒๕๓๙.) หน้า ๗.
[3] สาครคชเขตต์ , หลวง. เรื่องเดิม. หน้า ๘.
[4] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ รัชกาลที่ ๕ ฝ. ๑๙/๑๑ เรื่องมอบเมืองที่ยกให้ฝรั่งเศสตามสัญญาฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๒๒.
[5] พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ - ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๖) ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า "องค์บิดาของทหารเรือไทย" พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "หมอพร" และ "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" ต่อมาในปี ๒๕๓๖ มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า "พระบิดาของกองทัพเรือไทย" และในปี ๒๕๔๔ แก้ไขเป็น "องค์บิดาของทหารเรือไทย"
[6] พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ร.น. (บุญมี พันธุมนาวิน) (๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๓๓ – ๒๒ มกราคม ๒๕๑๘) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับกองจับเรือเชลยในวันที่ประเทศไทยประกาศสงครามต่อประเทศเยอรมนีและออสเตรีย ฮังการี วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 กันยายน 2552 เวลา 22:34

    อาจารย์มีข้อมูลเรื่องอาหารพื้นบ้านจังหวัดตราดมั้ยคะ ชลพรรษ

    ตอบลบ
  2. เรื่องอาหารพื้นบ้านจังหวัดตราด เป็นเรื่องน่าสนใจ ผมเขียนเรื่องขนมเมืองตราดไว้เรื่องหนึ่ง ลองไปอ่านดูนะครับ นอกจากนั้นก็น่าจะมีอยู่ในหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดตราด แล้วก็มีอีกเล่มหนึ่งจำชื่อไม่ได้ จำได้ว่าเป็นหนังสืองานศพอาจารย์โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ เคยมีอยู่เล่มหนึ่งแต่ยังไมไม่เจอครับ อีกเล่มหนึ่งไม่แน่ใจว่ามีเขียนไว้หริอไม่ คือหนังสือ ตราด สุดแผ่นดินตะวันออก ของอ.จันทิรา ผาสุก ร.ร.ตราษตระการคุณ ครับ

    ตอบลบ
  3. หนังสือหาซื้อได้ที่ไหนคะ

    ตอบลบ