วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลวงรามทิพรจน์ ผู้แต่งนิราศเมืองตราด

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล



หลวงรามทิพรจน์ นามเดิม เหี้ยม กำเนิดในตระกูลข้าราชการสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรคนโตของหลวงประกอบวรกิจ ( พวง ) กับคุณเปี่ยม และเป็นหลานปู่ของพระภักดีภูธร ยกกระบัตรเมืองตราด หลวงรามทิพรจน์มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ดังนี้ คือ
๑. ด.ช. หาญ ( เสียชีวิตแต่ยังเล็ก )
๒. ด.ญ. จาน ( เสียชีวิตแต่ยังเล็ก )
๓. หลวงวิพิธพจนการ ( แจ่ม สูตะบุตร )
๔. ขุนจ่าเมืองคง
๕. นายทิน
๖. นางทั้น
๗. นายเสริม
๘. นางถิน
๙. นางกิ่ง

บิดาหลวงรามทิพรจน์เสียชีวิตตั้งแต่หลวงรามทิพรจน์มีอายุเพียง ๑๐ ปี ส่วนหลวงวิพิธพจนการนั้นอายุได้เพียง ๘ เดือน ต่อมามารดาคือ คุณเปี่ยม มีสามีใหม่ ชื่อนายพุก นายพุกได้รับตัวหลวงวิพิธพจนการไปเลี้ยงเป็นลูกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ที่จังหวัดราชบุรี ส่วนหลวงรามทิพรจน์นั้นอยู่กับญาติที่เมืองตราดตลอดมา ที่ตึกย่านตลาดขวาง ในตัวเมืองตราด เมื่อจำเริญวัยขึ้นได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งปลัดเมืองตราด ซึ่งขณะนั้นพระยานรเชษฐวุฒิวัย ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของหลวงรามทิพรจน์ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตราดอยู่

ด้านชีวิตครอบครัว หลวงรามทิพรจน์ ( เหี้ยม รมยานนท์ ) สมรสกับคุณเมี้ยน น้องสาวคุณครอง มารดาพระยาอรรถวิรัชวาทเศรณี ต้นตระกูล จินตกานนท์ หลวงรามทิพรจน์มีบุตรธิดากับคุณเมี้ยนทั้งสิ้น ๑๓ คน ดังนี้
๑. นางอำนวย ( รมยานนท์ )
๒. พระชิณดิษฐบดี ( อำนาจ รมยานนท์ )
๓. นายสวัสดิ์ รมยานนท์
๔. นางเกื้อ ( รมยานนท์ )
๕. ด.ญ. มาลา รมยานนท์
๖. นายภูมี รมยานนท์
๗. นายเอก รมยานนท์
๘. ขุนระดับคดี ( ปัญญา รมยานนท์ )
๙. นางเจริญเนติศาสตร์ ( พรรษา )
๑๐. นางกายภาคพิศาล ( ประโยชน์ )
๑๑. นายประทุม รมยานนท์
๑๒.หลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ ( สอ้าน สุทธิวาทนฤพุฒิ )
๑๓. นางบำเพ็ญสุขกิจ ( อุรา )


ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์เสียเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศสใน ร.ศ. ๑๒๓ ( พ.ศ. ๒๔๔๗ ) หลวงรามทิพรจน์ มีความละอายใจในการที่จะอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสด้วยกลัวจะเสียเกียรติของวงศ์ตระกูล จึงพาครอบครัวอพยพออกจากเมืองตราด เดินทางไปอยู่ที่หลังตลาดจันทบุรี ต่อมาไม่นานได้ไปขอซื้อที่ดินที่ถนนวัดใหม่ ปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยตั้งหลักฐานอยู่ที่จันทบุรี และได้ซื้อสวนที่ถนนเลียบเนินริมทุ่งนาเชย ประอบอาชีพทำสวนเงาะทุเรียนและผลไม้ต่าง ๆ อยู่ที่จันทบุรีจนสิ้นชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว บรรดาลูกหลานได้นำศพไปตั้งที่วัดใหม่จันทบุรี และสร้างเจดีย์ครอบศพไว้ มีข้อความจารึกที่เจดีย์นั้นว่า “ ที่บรรจุศพหลวงรามทิพรจน์ ( เหี้ยม ) ต้นตระกูล รมยานนท์ ”

หลวงรามทิพรจน์เป็นกวีคนสำคัญของเมืองตราด ผลงานเท่าที่ปรากฏหลักฐานมีเพียงเรื่องเดียว คือ นิราศเมืองตราด ซึ่งแต่งเมื่อคราวที่หลวงรามทิพรจน์อพยพไปอยู่ที่เมืองจันทบุรี อย่างไรก็ดีเชื่อกันว่าหลวงรามทิพรจน์อาจจะได้แต่งบทประพันธ์ไว้อีกมาก ซึ่งอาจสูญไปในขณะย้ายไปอยู่เมืองจันทบุรีนั่นเอง

รายการอ้างอิง

กรุ่น รมยานนท์ อายุ ๘๖ ปี. ทายาทหลวงรามทิพรจน์ (เหี้ยม รมยานนท์) บ้านท่าเรือจ้าง ต.ท่าเรือจ้าง อ.เมือง
จ.ตราด สัมภาษณ์เมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๕.
ประวัติและนามานุกรม ตระกูลรมยานนท์ - สูตะบุตร - สุทธิวาทนฤพุฒิ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน
พระราชทานเพลิงศพ นายหิรัญ สูตะบุตร วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๒ .
รามทิพรจน์ , หลวง. นิราศเมืองตราด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๘ .
วัชรี รมยานนท์ พาทีทิน อายุ ๗๒ ปี ทายาทหลวงรามทิพรจน์ (เหี้ยม รมยานนท์) บ้านท่าเรือจ้าง
ต.ท่าเรือจ้าง อ.เมือง จ.ตราด สัมภาษณ์เมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๕.
อุรา รมยานนท์ บุณยพุกกณะ. “ ประวัติตระกูลรมยานนท์ - สูตะบุตร ” หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิง
ศพนางรัมภา สูตะบุตร วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๓๗.