วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ขนมโบราณในเมืองตราด

ขนมโบราณในเมืองตราด: ความรู้ที่โลก “ลืมจำ” แต่ไม่เคย “ลืมกิน”

หากใครมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศของตลาดเช้าในเมืองตราด สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือ การแวะชิมขนมโบราณต่างๆ ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้านพื้นเมืองตราด ขนมหลายอย่างเคยเป็นขนมที่คนไทยสมัยก่อนรู้จักกันดี แม้ปัจจุบันจะหาทานได้ยากในเมืองกรุง แต่กลับหาทานได้ง่ายๆ ในตลาดเช้าเมืองตราด เช่น ลอดช่องไทย ไข่เต่าชาววัง ปลากริม ข้าวเหนียวกวน ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวหมาก ข้าวเกรียบว่าว ขนมตะไล ขนมจ้าง
ขนมโบราณเหล่านี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษชาวตราดได้มอบไว้ให้แก่ลูกหลานเอาไว้อวดฝีมือแก่แขกบ้านแขกเมือง ซึ่งตำรับการทำขนมนี้มีการถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนานไม่น้อยกว่าร้อยปี จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง มีการพัฒนาสูตร ดัดแปลง และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำขนมโบราณในหมู่ของ “ประติมากรขนม” มาอย่างต่อเนื่อง จนได้เป็นรสชาติและหน้าตาที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ขนมต่างๆ เหล่านี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจดังจะคัดสรรมานำเสนอดังนี้

บันดุ๊ก: ขนมไร้หัวนอนปลายเท้า?

ในบรรดาขนมโบราณที่วางขายอยู่ในท้องตลาดเมืองตราดนั้น ขนมอย่างแรกที่ผู้เขียนอยากจะอวดคือ “ขนมบันดุ๊ก” ขนมนี้ทราบมาว่าคนเมืองกรุงเรียกว่า “ขนมเปียกปูนขาว” เพราะรูปลักษณ์คล้ายขนมเปียกปูนแต่เป็นสีขาว แต่กระนั้นก็ไม่ใคร่เคยเห็นทำขายในกรุง และด้วยความที่ชื่อของขนมนี้ออกจะประหลาดจึงสันนิษฐานเบื้องต้นกันว่าน่าจะเป็น “ขนมต่างด้าว” ที่เข้ามาลี้ภัยในเมืองตราดและภายหลังได้กลืนสัญชาติเป็น “ขนมเมืองตราด” ไปในที่สุด

ขนมบันดุ๊กตำรับเมืองตราด

นักวิชาการท้องถิ่นเมืองตราดสันนิษฐานถึงชาติกำเนิดของ “ขนมบันดุ๊ก” เป็นสองทาง ข้างหนึ่งว่ามาจากเมืองเขมร อีกข้างหนึ่งว่ามาจากเมืองญวน ซึ่งหากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์ของเมืองตราดจะพบว่าพลเมืองของประเทศทั้งสองต่างก็เคยถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเมืองตราดทั้งคู่ ความเป็นไปได้จึงมีพอๆ กัน
เมื่อครั้งที่คุณยายสลิด เกษโกวิท “ประติมากรขนม” คนสำคัญของเมืองตราด ยังมีชีวิตอยู่ได้เล่าไว้แต่เพียงว่า “คงเป็นขนมของพวกญวน” และเมื่อผู้เขียนได้ลองสอบกับหนังสือต่างๆ อาทิ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กาพย์เห่ชมเครื่องหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๔๕๒) ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ รวมถึงตำราขนมไทยต่างๆ ก็ไม่พบ กระทั่งเมื่อได้พบหนังสือ งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในตอนหนึ่งกล่าวถึงบัญชีรายชื่อขนมต่างๆ ของไทย และในจำนวนนั้นได้กล่าวถึงหมวด “ว่าด้วยขนมต่างๆ ของอานำ ทำด้วยแป้ง ด้วยถั่วงาต่างๆ เจือน้ำตาลต่างๆ” ว่าประกอบไปด้วยขนมบั้นเหง่ ขนมบั้นเชบ ขนมบั้นหลวกเหงื่อ ขนมบั้นเกิบ ขนม ๒ ชนิดหลังนี้มีคำอธิบายว่า “๒ สิ่งนี้ พวกอานำทำเครื่องแจ๋ถวายพระญวนเมื่อเวลาสวดกงเต๊ก ถ้าจะซื้อขายราคาอันละ ๑ อัฐ” [1]
จากชื่อขนมญวนที่อ้างในบัญชีข้างต้นจะเห็นว่าชื่อขนมญวนเหล่านี้มักจะขึ้นต้นว่า “บั้น” ซึ่งคำนี้ในภาษาญวน (เวียดนาม) แปลว่า “ขนม” และเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากเวียดนามแล้วก็พบชื่อขนมนี้จริงๆ และเรียกชื่อตรงกันว่า “บันดุ๊ก” (bánh đúc)

ภาพขนมบันดุ๊ก (bánh đúc) ตำรับญวน
ที่ร้านอาหารเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม

จากภาพข้างต้นจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ที่ตรงกันคือเป็นแป้งกวนและรับประทานกับน้ำเชื่อม แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อขนมและน้ำเชื่อมแล้วก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด นอกจากนี้ยังได้รับคำบอกเล่าจาก อ. เขมฤทัย บุญวรรณ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลว่าที่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม บางแห่งก็มีการทำขนมบันดุ๊กนี้เช่นกัน คือบริเวณชุมชนวัดแค (กัมปูเจีย) เล่ากันว่าชุมชนแห่งนี้ในสมัยบรรพบุรุษเป็นชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งในขณะนั้นเขมรและญวนมีความใกล้ชิดกันมาก จึงสันนิษฐานว่าขนมบันดุ๊กนี้กลุ่มชนเขมรอาจได้รับอิทธิพลมาจากพวกญวน และภายหลังเมื่อถูกกวาดต้อนมาก็ยังคงทำรับประทานในครัวเรือนและถ่ายทอดความรู้นี้มาสู่ทายาทในปัจจุบัน (ดูวิธีทำขนมนี้ได้ที่ http://www.trat.go.th/food/dessert2.htm)


ขนมบันดุ๊กของชาววัดแค (กัมปูเจีย) นครชัยศรี จ. นครปฐม

ความจริง นอกจาก “บันดุ๊ก” แล้ว ยังมีขนมญวนอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ในเมืองตราด จนชาวตราดคิดว่าเป็นขนมไทยไปแล้วนั่นคือ “ขนมมัดไต้” หรือ “ข้าวต้มมัดไต้”
ส. พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือขนมแม่เอ๊ย ว่า สมัยเป็นหนุ่มเคยคุมเรือทรายไปแถวลานเท แถวนั้นเคยมีพวกญวนทำข้าวต้มมัดไต้มาขายพวกเรือพ่วง ที่เรียกว่าข้ามต้มมัดไต้นั้น ก็เพราะข้าวต้มมัดแบบนี้มีขนาดยาวต้องใช้ตอกมัดหลายเปลาะแบบเดียวกับมัดไต้ที่ใช้จุดไฟ ผิดกับข้าวต้มมัดผัดธรรมดาที่ทำตอนตักบาตร เทโว ที่มัดเพียงสองเปลาะเท่านั้น ส.พลายน้อย ได้ให้ความเห็นว่าข้าวต้มมัดไต้นี้เดิมเป็นของญวน เห็นจะถ่ายทอดวิชาให้ไทยรู้จักกันมานานแล้ว โดยเฉพาะชาวจันทบุรีมีฝีมือในการทำข้าวต้มมัดไต้ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณ
แม่ค้ากับขนมมัดไต้ตำรับญวน (banh tet) ที่เมืองซาปา ประเทศเวียดนาม

ขนมมัดไต้เมืองตราด

ขนมมัดไต้นี้ถือเป็นขนมโบราณของชาวตราดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใคร่ได้ทำขายกัน มีแต่ทำรับประทานในครัวเรือน หรือทำเพื่อเซ่นไหว้เฉพาะเทศกาลเท่านั้น เพิ่งจะมีการทำขายเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง
การทำขนมมัดไต้มีวิธีทำมากเรื่องกว่าข้าวต้มมัดธรรมดา สิ่งสำคัญที่จะต้องใช้คือข้าวเหนียวที่แช่ไว้ ๑ คืนกับถั่วเขียวปอกเปลือกออก หรือที่เรียกว่า ถั่วทอง และมันหมูเคล้าเกลือกับพริกไทย เมื่อเวลาจะห่อก็ต้องใช้ใบกระพ้อ มาใช้ห่อ เมื่อได้ใบกระพ้อแล้วก็จะตักข้าวเหนียวใส่บนใบกระพ้อเป็นชั้นที่ ๑ จากนั้นตักถั่วทองใส่เป็นชั้นที่ ๒ ใส่มันหมูที่หมักไว้เล็กน้อย แล้วตักถั่วทองใส่เป็นชั้นที่ ๓ ปิดท้ายด้วยข้าวเหนียวเป็นชั้นที่ ๔ จากนั้นใช้ใบกระพ้ออีกใบหนึ่งประกบ และม้วนให้เป็นกระบอกจากนั้นหักใบที่ยาวเกินออกมาปิดหัวข้างหนึ่ง แล้วใช้ไม้กลมๆ หรือ ก้านกล้วยเล็กๆ กระทุ้งให้ข้าวกับถั่วทองเข้าไปอัดแน่นในกระบอกใบกระพ้อ เมื่ออัดจนเต็มแล้วจึงปิดหัวอีกข้างหนึ่ง จากนั้นจึงเอาไปต้ม เป็นอันเสร็จและรับประทานได้

ไข่เต่าชาววัง: ขนมที่คนในวังไม่เคยกิน


ขนมอีกชนิดหนึ่งที่อดพูดถึงไม่ได้คือ “ไข่เต่าชาววัง” และเมื่อพูดถึง “ขนมไข่เต่า” หลายคนก็มักจะนึกถึงชื่อขนมพี่ขนมน้องของขนมไข่เต่าคือ “ขนมปลากริม” มาคู่กันด้วย ซึ่งมีหลายครั้งที่คนกรุงมักจะเหมากันว่าคือขนมชนิดเดียวกันคือ ปลากริม ส่วน ไข่เต่า นั้นเป็นคำสร้อย เพราะเวลาเรียกก็เรียกกันจนติดปากว่า “ขนมปลากริมไข่เต่า”
ความจริง “ขนมปลากริม” และ “ขนมไข่เต่า” เป็นขนมคนละชนิดกัน มีรูปลักษณ์ต่างกัน ขนมปลากริมนั้นมีลักษณะเป็นปลาอย่าง “ปลากริม” ที่เป็นปลาจริงๆ มีทั้งชนิดเค็มและหวาน ในจังหวัดตราดนิยมทำเลี้ยงในงานศพ และมีธรรมเนียมว่าจะใช้ขนมปลากริมเลี้ยงแขกในคืนสุดท้ายของงานศพผู้สูงอายุด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อทราบว่า “ขนมปลากริม” เป็นเอกเทศจาก “ขนมไข่เต่า” แล้ว “ขนมไข่เต่า” เป็นอย่างไร ขนมไข่เต่านี้แต่ละท้องถิ่นทำแตกต่างกัน บางแห่งทอด บางแห่งต้ม ที่เพชรบุรีใช้ทอดมีไส้ถั่วทอง คือเป็นขนมไข่หงส์ นั่นเอง ส่วนที่ตราดใช้ต้มกับน้ำ มีไส้ถั่วทองเหมือนกันแต่เป็นถั่วทองผัดกับหอมเจียว รับประทานในน้ำกะทิ
ในอดีตขนมไข่เต่าของเมืองตราด มีสีเดียวคือสีขาวที่ได้จากแป้งขนม ภายหลังคุณยายสลิดได้ริเริ่มทดลองผสมแป้งกับส่วนประกอบใหม่ๆ เช่น เผือก มัน ฟักทอง น้ำใบเตย น้ำอัญชัน ทำให้ได้บัวลอยสีสันต่างๆ มากมายน่ารับประทานจึงให้ชื่อขนมที่ทดลองทำขึ้นใหม่นี้ว่า “ขนมไข่เต่าชาววัง” เนื่องจากมีกรรมวิธีที่ประณีต และดูน่ารับประทานดุจสำรับของชาววัง ภายหลังได้มีผู้นำไปทดลองทำบ้าง จนเป็นที่แพร่หลายในจังหวัดตราดปัจจุบัน
อนึ่ง น่าสนใจว่าแล้วเหตุไฉน ปลากริมจึงต้องมาคู่กับไข่เต่า นั่นเป็นเพราะสมัยโบราณมีขนมอยู่ชนิดหนึ่งเรียกว่า ขนมแชงมา หรือ ขนมแฉ่งม้า ซึ่งมีปรากฏอยู่ในเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งมีเนื้อร้องว่า “โอละเห่ โอละหึก ลุกขึ้นแต่ดึก ทำขนมแฉ่งม้า ผัวก็ตี เมียก็ด่า ขนมแฉ่งม้า ก็คาหม้อแกง”
ขนมแชงม้า นี้ แท้จริงคือ ขนมปลากริมที่รับประทานกับขนมไข่เต่า เป็นขนมโบราณมากๆ เพราะมีการถกเถียง สอบถามกันมาว่ามีหน้าตา รูปลักษณ์อย่างไร มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ดังที่พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยบันทึกไว้ว่า

……ขนมแชงม้า รูปพรรณสีสัน กลิ่นรสของขนม เป็นอย่างไรไม่ทราบ เป็นแต่ชื่อลอยมา อย่างนั้น ถึงมีผู้เฒ่าผู้แก่ ก็มิได้ เคยพบเคยเห็น ได้ยินแต่เสียงคนทั้งหลาย กล่อมเด็กว่า โอละเห่ โอละหึก ลุกขึ้นแต่ดึก ทำขนมแชงม้า ฯลฯ แต่บางคนก็ว่า ขนมหม้อแกงนั้นเอง เดิมชื่อ ขนมแชงม้า ครั้นเกิดความ ผัวเมียตีกันขึ้น ขนมไม่ทันสุก คาหม้อแกงอยู่ คนทั้งหลาย จึงได้เรียกว่า ขนมหม้อแกง ตั้งแต่นั้นมา' นี่แหละ ความจะเท็จจริงอย่างไร ก็ไม่ทราบแน่

ความสงสัยในข้อนี้เป็นเหตุให้ท่านผู้หญิง เปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญอาหารหวานคาว เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นผู้แต่งตำราอาหารชื่อ แม่ครัวหัวป่าก์ ติดตามเรื่องราวความเป็นมาของขนมแชงมา และบันทึกไว้ว่า

... ขนมนี้ เป็นของโบราณ ได้ยินแต่แม่หญิงกล่อมเด็ก ต่อๆ กันมา ดังข้างบนนี้ จะเป็นอย่างใด ทำด้วยอะไร ไต่ถาม ผู้หลักผู้ใหญ่ มามากแล้ว ก็ไม่ได้ความชัดเจนลงได้ คนหนึ่งก็ว่า คือขนมนั้นบ้าง นี้บ้าง แต่ว่าเป็น ขนมไข่เต่า นั่นเอง ที่ว่าเช่นนี้ ถูกกันสามสี่ปากแล้ว เวลาวันหนึ่ง อุบาสิกาเนย วัดอัมรินทร์ ได้ทำขนมมาให้ วางลงถาดมาสองหม้อแกง ได้ถามว่าอะไร อุบาสิกาเนย บอกว่า ขนมแชงมา เป็นขนมโบราณ ทำมาเพื่อจะเลี้ยงคน ที่อยู่ในบ้าน จึงได้ตักออกมาดู หม้อหนึ่งเป็น ขนมไข่เต่า อีกหม้อเป็น ขนมปลากริม จึงได้ ถามออกไปอีกว่า เช่นนี้เขาเรียก ขนมปลากริม ขนมไข่เต่า ไม่ใช่หรือ อุบาสิกาเนย บอกว่า โบราณใช้ผสมกัน ๒ อย่าง จึงเรียกว่า ขนมแชงมา ถ้าอย่างเดียวเรียก ขนมไข่เต่า ขนมปลากริม รับประทานคนละครึ่งกัน จึงให้ตักออกมาดู ก็ตัก ขนมปลากริม ลงชามก่อน แล้วตัก ขนมไข่เต่า ทับลงหน้า เมื่อจะรับประทาน เอาช้อนคน รับประทานด้วยกัน ได้ความเป็นหลักฐาน เพียงเท่านี้ …

ความจริงในหนังสือ งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในตอนหนึ่งกล่าวถึงบัญชีรายชื่อขนมต่างๆ ของไทย และในหมวดที่ว่าด้วย “ขนมทำด้วยแป้งถั่วต่างๆ แลฟองเป็ดเจือน้ำตาลโตนด แลน้ำอ้อย” กล่าวถึงขนมชนิดที่ ๒๐๑ ว่า

ขนมแซะม้า เปนขนมของนายสารถี แต่ก่อนต้มให้ม้ากินให้มีกำลัง แต่เดี๋ยวนี้หามีผู้ใดรู้จักไม่ รู้จักแต่ชื่อมาทำเพลงกล่อมบุตรแลหลานทุกบ้านเรือน แต่เพลงชื่อเปนขนมแชงม้าไป ที่จริงขนมแซะม้านั้นท่านไม่ใส่น้ำกะทิ เหมือนกับขนมของจีนที่เรียกว่า จุตบีม้วย แต่เดี๋ยวนี้ยักใส่น้ำกะทิคล้ายกับสาคู ไม่เคยเหนว่าผู้ใดทำขาย เคยเหนแต่ทำรับประทาน ถ้าจะคิดราคาที่ลงทุนทำราคาถ้วยละ ๑ อัฐ [2]

จากข้อมูลดังประมวลมาข้างต้น คงจะทำให้ปริศนาเรื่องความเป็นมาของไข่เต่าและความเป็น “ขนมพี่ขนมน้อง” ของปลากริมกับไข่เต่า ได้กระจ่างและชัดเจนมากขึ้น

ขนมเล็บมือนางกับน้องชายสุดรักของ“ตาอุ้ย”





ขนมชนิดสุดท้ายที่คัดมาคือ “ขนมเล็บมือนาง” เมืองตราดเรียกว่า “ขนมควยตาอุ้ย” เหตุที่มาของชื่อนี้นั้นมีที่มา มีนิทานอธิบายไว้ดังปรากฏในวิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ของ จงกล เก็ตมะยูร เรื่อง “วิถีชีวิตของชาวบ้านในนิทานพื้นบ้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด: การศึกษาเชิงวิเคราะห์” เล่าโดยนายผิว สิงหพันธ์
นิทานเล่าว่า สมัยก่อนขนมเล็บมือนางเรียกว่า ขนมควยตาอุ้ย บ้างก็เรียก ขนมควยลี มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งชื่อ ตาอุ้ย มีภรรยาเป็นคนซื่อและเขลาเบาปัญญานัก วันหนึ่งตาอุ้ยไปเยี่ยมเพื่อนที่อยู่ต่างหมู่บ้าน เพื่อนของตาอุ้ยและภรรยาต้อนรับขับสู้ตาอุ้ยอย่างมิได้บกพร่อง เลี้ยงดูปูเสื่อตาอุ้ยเป็นอย่างดี เมื่อกลับไปถึงบ้านตาอุ้ยจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ภรรยาของตนฟัง ทั้งยังชมภรรยาของเพื่อนว่าเป็นคนสวย มีเสียงอันไพเราะ และต้อนรับขับสู้เขาดีเหลือเกิน และสั่งภรรยาว่าอีกไม่กี่วันเพื่อนของตาอุ้ยจะมาเยี่ยม ให้เตรียมต้อนรับเพื่อนของเขาให้ดีอย่าให้ขาดตกบกพร่อง








เมื่อเพื่อนตาอุ้ยมาถึง เมียตาอุ้ยก็หลบไปอยู่ในครัวรอเวลาให้สามีเรียกมาแนะนำให้เพื่อนรู้จัก ครั้นเมื่อตาอุ้ยเรียก นางก็เอาสังเวียนคลุมหัวเดินมาแล้วร้องว่า “กาเหว่า กาเหว่า” ตาอุ้ยทั้งโกรธทั้งอาย ไม่อยากคุยด้วย ฝ่ายภรรยาก็ถามตาอุ้ยว่า “แกทำขนมอะไรดี” เพราะจะได้นำมาเลี้ยงแขก ฝ่ายตาอุ้ยก็โกรธเหลือเกินแล้วหันมาป้องปากกระซิบด่าภรรยาว่า “ขนมควย” ภรรยาก็เกิดคิดว่าเป็นคำสั่ง เกิดพุทธิปัญญาขึ้น รีบวิ่งไปเข้าครัวนวดแป้งแล้วโม่ทับจนแห้ง แล้วนำมาปั้นเป็นรูปร่างตาม “คำสั่ง” ของสามีพร้อมกับ “ลูกโป่งสวรรค์” แนบไปอีก ๒ ลูก แล้วเอาไปใส่หม้อต้ม พอสุกแป้งก็ลอยขึ้นมา ก็ตักขึ้นมาใส่จาน แต่เมื่อภรรยาตาอุ้ยพิจารณาดูแล้วก็คิดว่ายังไม่ครบเหมือนจะขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง นึกขึ้นได้จึงไปเอามะพร้าวมาขูดหยาบๆ เอาโรยทับขนมที่นางเพิ่งจะสร้างสรรค์ขึ้น เมื่อดูถี่ถ้วนแล้วว่าตรงตามคำสั่งสามี ก็นำมาให้เพื่อนของตาอุ้ยรับประทาน
ตาอุ้ยเห็นขนมเข้าก็ตกใจ โกรธจนพูดไม่ออก ส่วนเพื่อนตาอุ้ยกับภรรยานั้นเมื่อแรกเห็นก็ไม่กล้าหัวเราะ ได้แต่ยิ้มแล้วก็ว่า “นี่ขนมอะไรกันนี่ เห็นแล้วน่าอุจาดเหลือเกิน” แต่ด้วยความเกรงใจภรรยาตาอุ้ย เพื่อนตาอุ้ยจึงลองหยิบมาชิมเพื่อรักษามารยาท ปรากฏว่ารสชาติดี อร่อยมาก ครั้นเมื่อกลับไปถึงบ้านจึงสั่งภรรยาให้ทำขนมอย่างที่ภรรยาตาอุ้ย แต่ก็กำชับว่า “แต่ว่าเราอย่าไปตัดเป็นรูปร่างเหมือนอย่างเขา ให้เอามือมาใส่แล้วปั้นๆ ใส่กระทะ ปั้นๆ ใส่กระทะ มันแหลมสองข้างใช่ไหม ก็ยาวๆ ก็ตัดมาแล้วเอามะพร้าวโรยๆ เข้าก็อร่อย เป็นดัดแปลงเป็นขนมควยลี ไม่ใช่ขนมควยตาอุ้ยแล้ว” ต่อมาสูตรขนมนี้ได้แพร่หลายกันทั่วไป และยังคงเรียก “ขนมควยตาอุ้ย” อยู่นั่นเอง แม้เดี๋ยวนี้คนเฒ่าคนแก่ในเมืองตราดก็ยังเรียกกันเช่นนี้อยู่ จนเมื่อไม่นานมานี้เห็นว่าไม่สุภาพจึงหันมาเรียกกันว่า “ขนมเล็บมือนาง” เช่นคนในเมืองกรุง
นิทานข้างต้นไม่ใช้เรื่องหยาบโลนไร้ประโยชน์หาสาระมิได้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นนิทานมุขตลกที่ระบายออกซึ่งความกดดันในสังคมที่เคร่งครัดกฎระเบียบมากมาย ทั้งยังทำหน้าที่ในการอธิบายความเป็นมาของชื่อขนม ซึ่งเท่าที่ทราบ ยังไม่มีขนมชนิดใดได้รับ “เกียรติ” ให้มีเรื่องเล่าความเป็นมาเป็นของตัวเองเช่นขนมตาอุ้ยนี้มาก่อน
นอกจากขนมต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีขนมน่าสนใจอีกมาก เช่น ขนมมักง่าย ที่คนรวยหากินไม่ได้ง่ายๆ เพราะไม่ค่อยมีคนทำกันเป็นมะพร้าวขูดผัดกับน้ำตาล หรือขนมของก๋งย่ด ซึ่งเป็นเจ้าที่ที่บ้านหนองพรอด ต.ท่าพริก เวลาจะไหว้ต้องไหว้ขนมหวาน และขนมที่ท่านชอบคือข้าวเหนียวมูนเปล่าๆ กับน้ำกะทิหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังขนมในเทศกาลสำคัญๆ เช่น ขนมมัดไต้ กับขนมเทียน ที่จะทำเฉพาะเทศกาลจี๊เจ้กปั้ว เทศกาลตรุษจีน[3] ประเพณีแข่งเรือ (ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗) เทศกาลสารทไทย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับขนมในเมืองตราด ไม่เพียงจะช่วยอธิบายประวัติความเป็นมาและบทบาทของขนมในสังคมชาวตราดเท่านั้น หากยังช่วยเพิ่ม “รสชาติ” ให้ขนม “กลมกล่อม” มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยสร้างความ “ภาคภูมิใจ” ให้ทั้งคนที่ได้ทานและคนที่ได้ทำไปพร้อมๆ กันด้วย ว่าตนได้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาภูมิปัญญาของบรรพชนไว้ ฉะนั้น หากใครผ่านไปยังเมืองตราดก็ควรจะได้ลองไปชิมฝีมือขนมของชาวตราดสักครั้งแล้วจะอร่อยจนหาทางกลับไม่ถูกเลยทีเดียว









บรรณานุกรม

งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี
พ.ศ. ๒๔๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๔๓.
จงกล เก็ตมะยูร. “วิถีชีวิตของชาวบ้านในนิทานพื้นบ้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัด
ตราด: การศึกษาเชิงวิเคราะห์” วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร , ๒๕๓๘.
เปลี่ยน ภาสกรวงศ์,ท่านผู้หญิง แม่ครัวหัวป่าก์. (พิมพ์ครั้งที่ ๖) กรุงเทพฯ: สมาคม
กิจวัฒนธรรม, ๒๕๔๕.
ส. พลายน้อย. ขนมแม่เอ๊ย. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ: สารคดี, ๒๕๔๕.
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. อัฐยายซื้อขนมยาย. พิมพ์แจกชำร่วยในงานบำเพ็ญกุศล
สตมวาร คุณยายสลิด เกษโกวิท ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๐ ณ วัดท่าพริก ตำบลท่าพริก อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด. (เอกสารอัดสำเนา)



[1] งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๔๓. หน้า ๒๒-๒๓.
[2] งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๔๓. หน้า ๑๗.
[3] เทศกาลตรุษจีนนี้ ชาวตราดถือว่าเป็น “เจ้ยใหญ่” เป็นประเพณีที่ทุกบ้านต้องปฏิบัติ ส่วนเทศกาลอื่นๆ จะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น